Slovenia, Republic of (-)

สาธารณรัฐสโลวีเนีย (-)

สาธารณรัฐสโลวีเนียเป็นประเทศในเขตเทือกเขาแอลป์ (Alps) ทางใต้ของยุโรปกลางหรือทางตะวันตกเอียงเหนือของคาบสมุทรบอลข่าน เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ได้ร่วมกับชาวโครแอตและชาวเซิร์บก่อตั้งประเทศยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) ขึ้น ซึ่งถูกฝ่ายอักษะ (Axis Powers) ยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)*


หลังสงครามยังคงอยู่รวมกับยูโกสลาเวียโดยเป็น ๑ ใน ๖ สาธารณรัฐที่รวมกันในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย จนกระทั่งต่อสู้แยกตัวเป็นอิสระใน ค.ศ. ๑๙๙๑ และปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 สาธารณรัฐสโลวีเนียมีเนื้อที่ ๒๐,๒๗๓ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่านทางตะวันตกเอียงเหนือมีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศออสเตรีย ทิศตะวันออกติดต่อกับฮังการีและโครเอเชีย ทิศใต้ติดต่อกับโครเอเชียและทิศตะวันตกติดต่อกับอิตาลี เมืองหลวงคือ กรุงลูบลิยานา (Ljubljana) ใช้ภาษาสโลวีเนียเป็นภาษาราชการ มีประชากรประมาณ ๑,๙๘๘,๒๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) กว่าครึ่งหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

 บริเวณที่เป็นประเทศสโลวีเนียปัจจุบันนั้นมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีเก่าที่สุดคือ เครื่องมือหิน ๒ ชิ้นจากถํ้าจามา (Jama) ในป่าโลซา (Loza) ใกล้โอเรเฮก (Orehek) ซึ่งบ่งชี้ว่าเมื่อราว ๒๕๐,๐๐๐ ปีมาแล้วเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่บริเวณนี้ และยังพบเครื่องดนตรีเก่าแก่ประเภทขลุ่ยของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) เหนือหุบเขาอีดรีจา (Idrija) แต่มนุษย์รุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งยังชีพด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นั้นไม่อาจระบุได้ว่าเป็นชาติพันธุ์ใดจนกระทั่งประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกเคลต์ (Celt) ได้เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยและก่อตั้งรัฐแห่งแรกขึ้นชื่อว่าโนริกัม (Noricum) สถานที่หลายแห่งในสโลวีเนียปัจจุบัน เช่น โบฮินิ (Bohinj) ตูฮินิ (Tuhinj) ตลอดจนแม่น้ำหลายสาย เช่น ซาวา (Sava) ซาวินจา (Savinja) ดราวา (Drava) ต่างได้ชื่อมาจากสมัยนี้ ประมาณ ๑๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช รัฐโนริกัมถูกผนวกเข้าอยู่ในจักรวรรดิโรมันหลังจากนั้นบริเวณนี่ก็มีการก่อตั้งเมืองโรมันต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่ เอโมนา (Emona) หรือลูบลิยานา เซเลีย [Celeia หรือเซลเย (Celje)] และโปโตเวีย [Poetovia หรือปตุช (Ptuj)] พวกโรมันได้สร้างถนนอย่างดีจากกรุงโรมตัดผ่านสโลวีเนียสู่ที่ราบแพนโนเนีย (Pannonia) เพื่อใช้ประโยชน์ทางการทหารและการค้า ในช่วงที่เป็นรัฐในจักรวรรดิ ผู้คนในท้องถิ่นกลายเป็นชาวโรมันและเริ่มรับรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์

 หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลาย บริเวณสโลวีเนียถูกพวกฮั่น (Hun) และชนเผ่าเยอรมันรุกรานระหว่างทางที่จะบุกคาบสมุทรอิตาลี เมื่อพวกแลงโกบาร์ด (Langobard) ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมันสุดท้ายที่ออกจากสโลวีเนียมุ่งไปยังอิตาลีใน ค.ศ. ๕๖๘ พวกสลาฟ (Slav) ก็อพยพเข้ามาตั้งรกรากแต่ไม่แน่ชัดว่าเข้ามาถึงตั้งแต่เมื่อใด หลังจากพวกสลาฟสามารถต่อต้านพวกเอวาร์ (Avar) ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนจากเอเชียสำเร็จ (ค.ศ. ๖๒๓-๖๒๖) ใน ค.ศ. ๖๒๗ ก็ได้รวมกับสมาพันธ์แห่งรัฐชนเผ่าของพระเจ้าซาโม (Sarno) ซึ่งเป็นราชอาณาจักรสลาฟที่ครอบคลุมดินแดนจากที่ราบลุ่มแม่นํ้าซาวาขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองไลพ์ซิก (Leipzig) โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่บริเวณที่เป็นประเทศเช็กปัจจุบัน เมื่อสมาพันธรัฐสลายตัวใน ค.ศ. ๖๕๘ บรรดาชาวสลาฟที่อยู่ในเขตคารินเทีย (Carinthia) ของสโลวีเนียปัจจุบันได้จัดตั้งดัชชีคารานทาเนีย (Duchy of Carantania) ที่เป็นอิสระขึ้น มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทเคร์น (Krn Castle) ทางเหนือของเมืองคลาเกนฟูร์ท (Klagenfurt)

 ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๘ ดัชชีคารานทาเนียตกเป็นวาสซัล (vassal) ของบาวาเรีย (Bavaria) ซึ่งนำศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแผ่ในเขตสโลวีเนีย ใน ค.ศ. ๗๘๘ ทั้งชาวคารานทาเนียและชาวบาวาเรียต่างอยู่ใต้การปกครองของพวกแฟรงก์ (Frank) ราชวงศ์คาโรลินเจียน (Carolingian) ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๙ พวกแฟรงก์ถอดถอนเจ้าชายของคารานทาเนียออกด้วยข้อหากบฏและให้ดุ๊กที่ดูแลพรมแดนของตนรับตำแหน่งแทน ระบบฟิวดัลของพวกแฟรงก์จึงแพร่ขยายสู่ดินแดนสโลวีเนีย ครั้นสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ ๙ พวกแมกยาร์ (Magyar) เข้ารุกรานที่ราบแพนโนเนียเข้าสู่เขตสโลวีเนียและตัดขาดสโลวีเนียออกจากพวกสลาฟตะวันตกกลุ่มอื่น ชาวสลาฟในคารานทาเนียและคาร์นีโอลา (Carniola) ทางใต้ก็เริ่มพัฒนารัฐอิสระของตนขึ้นเมื่อจักรพรรดิออทโทที่ ๑ (Otto I ค.ศ. ๙๓๖-๙๗๓) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงมีชัยชนะต่อพวกแมกยาร์ใน ค.ศ. ๙๕๕ สโลวีเนียก็ถูกแบ่งเป็นรัฐชายแดนต่าง ๆ ของจักรวรรดิ รัฐที่สำคัญที่สุดคือ คารานทาเนียซึ่งได้รับการยกฐานะสูงขึ้นเป็นดัชชีคารานทาเนียใหญ่ (Duchy of Great Carantania) ในช่วงนี้มีการจัดทำเอกสารลายมือเขียนภาษาสโลวีนที่เก่าที่สุดที่พบซึ่งเป็นบทสวดมนต์ในภาษาถิ่นของสโลวีเนีย เรียกว่า เอกสารเฟรซิง (Freising manuscript) แต่งขึ้นประมาณ ค.ศ. ๑๐๐๐ นับเป็นเอกสารภาษาสลาฟที่เก่าที่สุดที่มีอยู่ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรโรมัน ปลายยุคกลางเกิดการก่อตั้งแคว้นที่ต่อมามีความสำคัญในประวัติศาสตร์สโลวีเนียจากการเป็นภูมิภาคชายแดน ได้แก่ สติเรีย (Styria) คารินเทีย คาร์นีโอลา โกรีเซีย (Gorizia) ทริเอสเต (Trieste) และอิสเทรีย (Istria) และรวมเข้าอยู่ในจักรวรรดิของชนเยอรมัน

 ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ดินแดนส่วนใหญ่ของสโลวีเนียอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ซึ่งต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีด้วย อย่างไรก็ดี ราชวงศ์ฮันส์บูร์กมีคู่แข่งสำคัญในการแย่งชิงดินแดนสโลวีเนีย คือ เคานต์แห่งตระกูลเซลเย (Celje) ซึ่งเป็นขุนนางฟิวดัลตระกูลสำคัญในเขตนี้ซึ่งได้ตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งจักรวรรดิใน ค.ศ. ๑๔๓๖ แต่ตระกูลเซลเยสิ้นสายลงใน ค.ศ. ๑๔๕๖ ทำให้ดินแดนผืนใหญ่ต้องตกเป็นทรัพย์สินของราชวงศ์ฮับส์บูร์กจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ธงชาติของสโลวีเนียจึงมีตราของตระกูลเซลเยปรากฏอยู่ด้วยเป็นรูปโล่ พื้นสีนํ้าเงิน ตรงกลางสีขาวเป็นยอดเขาทริกลาฟ (Triglav) ซึ่งเป็นยอดสูงสุดของประเทศมีดาว ๖ แฉกจำนวน ๓ ดวงเรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมควํ่าอยู่เหนือยอดเขา

 ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ พวกเติร์กเข้ารุกรานเขตนี้บ่อยครั้ง ประชาชนเริ่มไม่พอใจที่ผู้ปกครองในระบอบฟิวดัลไม่สามารถขับไล่พวกเติร์ก และยังบังคับเก็บภาษีชนิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะการส่งบรรณาการและการเกณฑ์แรงงานแบบมีพันธะผูกพัน จึงเกิดกบฏชาวนาซึ่งเป็นชนชั้นที่อนุรักษ์ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีของชาวสโลวีน (ชนชั้นสูงรับอิทธิพลวัฒนธรรมและภาษาเยอรมัน) ขึ้นเป็นระยะ ๆ จนถึงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ กบฏครั้งสำคัญคือ ใน ค.ศ. ๑๕๑๕ ซึ่งกินอาณาเขตเกือบครอบคลุมดินแดนสโลวีเนียทั้งหมดและใน ค.ศ. ๑๕๗๒-๑๕๗๓ ชาวนาสโลวีนและใครแอต (Croat) ได้ร่วมมือกันก่อกบฏขึ้น กบฏแต่ละครั้งมักจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้และการเสียเลือดเนื้อ

 กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเป็นสมัยการปฏิรูปศาสนา นิกายลูเทอรัน (Lutheranism) ได้แพร่เข้าสู่ดินแดนสโลวีเนียและช่วยวางพื้นฐานภาษาเขียนของสโลวีเนียซึ่งเป็นภาษาของชาวสลาฟใต้อย่างจริงจัง โดยใน ค.ศ. ๑๕๕๐ พริมอช ทรูบาร์ (Primož Trubar) นักปฏิรูปโปรเตสแตนต์ได้พิมพ์หนังสือ ๒ เล่มแรกเป็นภาษาสโลวีนที่เมืองทือบิงเงิน (Tübingen) ต่อมาอาดัม โบโฮริตช์ (Adam Bohorič) พิมพ์หนังสือไวยากรณ์ภาษาสโลวีนเล่มแรก และจูรี ดัลมาติน (Jury Dalmatin) แปลคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มเป็นภาษาสโลวีนครั้นต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เจ้าผู้ครองรัฐและศาสนจักรคาทอลิกพยายามสกัดกั้นการแพร่ขยายนิกายโปรเตสแตนต์จึงทำให้พัฒนาการด้านวรรณกรรมในภาษาสโลวีนชะงักลงเป็นเวลานาน เมื่อยุโรปเข้าสู่สมัยแห่งภูมิธรรม (Enlightenment) ชาวสโลวีนซึ่งอยู่ใต้ปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็ได้ประโยชน์ไปด้วย โดยเฉพาะในสมัยอาร์ชดัชเชสมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๐) และจักรพรรดิโจเซฟที่ ๒ (Joseph II ค.ศ. ๑๗๖๕-๑๗๙๐) ซึ่งมีการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและก่อให้เกิดชนชั้นกลางของสโลวีเนียขึ้น

 ในสมัยจักรพรรดิโจเซฟที่ ๒ ซึ่งทรงสืบทอดราชสมบัติของราชวงศ์ฮับส์บูร์กใน ค.ศ. ๑๗๘๐ ต่อจากอาร์ชดัชเชสมาเรีย เทเรซา พระราชมารดาโปรดให้จัดการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นต้นก็ให้สอนเป็นภาษาสโลวีน นักวิชาการชาวสโลวีนจึงเริ่มกิจกรรมทางด้านภาษาและวัฒนธรรมนับเป็นช่วงเวลาของการฟื้นฟูชาติสโลวีเนียและการเกิดรัฐสโลวีเนียตามความหมายสมัยใหม่ของคำว่า ชาติ ต่อมา เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ขยายพระราชอำนาจครอบงำยุโรป ทรงต้องการกีดกันออสเตรียไม่ให้ออกทะเลเอเดรียติก (Adriatic) จึงทรงสถาปนามณฑลอิลลิเรียน (Illyrian Provinces ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๑๓) ของฝรั่งเศสซึ่งรวมภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสโลวีเนียเข้ากับดินแดนโครอชคา (Koroška) ครันยิสคา (Kranjska) โกรีเซีย ทริเอสเต อิสเทรีย คัลเมเชีย (Dalmatia) และโครเอเชีย (Croatia) ทางใต้ของแม่นํ้าซาวาโดยมีลูบลิยานาเป็นเมืองหลวง (ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสโลวีเนียปัจจุบันด้วย) แม้ฝรั่งเศสจะปกครองสโลวีเนียในชั่วระยะสั้น ๆ ก็ตาม แต่ก็ได้ช่วยปฏิรูประบบภาษี กฎหมาย และยกระดับการใช้ภาษาสโลวีนในโรงเรียน แต่ยังไม่ได้ช่วยยกเลิกระบอบฟิวดัล ฟรานซ์ เพรเชเรน (France Prešeren) กวีชาวสโลวีนคนสำคัญมากช่วยขจัดปัญหาความแตกต่างในหมู่ภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ของสโลวีเนียด้วยการช่วยสนับสนุนการมีภาษาเขียนที่มีรูปแบบเดียวและพยายามปกป้องไม่ให้ผู้ใดพยายามที่จะผสมผสานภาษาสโลวีนเข้ากับภาษาอิลลิเรียนที่ประดิษฐ์ขึ้น

 เมื่อทั่วยุโรปเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่เรียกว่าฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติ (Springtime of Nations) ชาวสโลวีนเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการเรียกร้องให้ดินแดนทั้งหมดที่ชาวสโลวีนอาศัยอยู่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและให้เรียกว่าสโลวีเนียในเขตปกครองตนเองนี้ ภาษาสโลวีนเป็นภาษาราชการมีภาษาท้องถิ่นของตนแต่ยังรวมอยู่ในจักรวรรดิฮับส์บูร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๗ ผู้แทนชาวสโลวีนได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาท้องถิ่น เมื่อมีการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy)* ระหว่างออสเตรียกับฮังการี ดินแดนที่เป็นสโลวีเนียปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในเขตของออสเตรียมีโพมูร์เย (Pomurje) อยู่ในเขตฮังการี ส่วนชาวสโลวีนในเวเนโต (Veneto) ตัดสินใจใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ว่าปรารถนาจะผนวกอยู่กับอิตาลี ดังนั้น ความคิดเรื่องการมีดินแดนสโลวีเนียที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงยังเป็นประเด็นสำคัญ ไปอีก ๖๐ ปี ระหว่างนี่ความคิดเรื่องการตั้งสหภาพการเมืองระหว่างชาวสลาฟใต้เริ่มปรากฏในทศวรรษ ๑๘๗๐ และมีการจัดตั้งพรรคการเมืองรุ่นแรกในสโลวีเนียอีก ๒ ทศวรรษต่อมา

 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชาวสโลวีนจำนวนมากบาดเจ็บล้มตายโดยเฉพาะพวกที่อยู่ในแนวรบโซกา (Soca) ซึ่งเป็นการรบที่นองเลือด เมื่อประเทศมหาอำนาจดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม ต้องการแบ่งแยกดินแดนในหมู่ตนตามกติกาสัญญาลอนดอน ค.ศ. ๑๙๑๕ สโลวีเนียจึงพยายามจะก่อตั้งรัฐของชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บ (Serb) ที่เคยอยู่ใต้ปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กเข้าด้วยกัน ข้อเรียกร้องโดยผู้แทนชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บในรัฐสภาออสเตรียที่กรุงเวียนนาในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๑๗ เรียกว่า แถลงการณ์เดือนพฤษภาคม (May Declaration) แม้ขบวนการแห่งชาติสโลวีเนียเคลื่อนไหวเข้มแข็ง แต่ออสเตรียปฏิเสธที่จะยอมรับและเมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทั้งสภาท้องถิ่นของโครเอเชียที่กรุงซาเกรบ (Zagreb) และการชุมนุมของประชาชนที่กรุงลูบลิยานาในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ได้ประกาศจัดตั้งรัฐอิสระแห่งชาวสโลวีนโครแอต และเซิร์บ (State of Slovenes, Croats and Serbs) โดยมีเมืองหลวงที่กรุงซาเกรบ แต่ในที่สุดความเกรงภัยคุกคามจากอิตาลีที่เข้ายึดครองพรีมอร์สกา (Primorska) อิสเทรีย และบางส่วนของดัลเมเชีย และแรงกดดันจากพวกเซิร์บที่ต้องการรวมเป็นรัฐเดียวกัน จึงทำให้รัฐแห่งชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บรวมเข้ากับราชอาณาจักรเซอร์เบีย ในวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of Serbs, Croats and Slovenes) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ อนึ่ง ออสเตรียต้องยอมสละดินแดนสโลวีเนียตามสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* ที่ทำกับฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. ๑๙๑๙

 สำหรับดินแดนคารินเทียนั้นหลังการลงประชามติใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ส่วนที่เป็นสโลวีเนียถูกผนวกเข้ากับออสเตรีย


ด้วยเหตุนี้ ดินแดนที่มีชาวสโลวีนอาศัยอยู่จึงยังไม่ได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว ดินแดนส่วนใหญ่ของสโลวีเนียที่อยู่ในยูโกสลาเวียก็มีการปกครองแบบดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างบริบูรณ์ สโลวีเนียไม่มีอิสระด้านการปกครองหรือการออกกฎหมาย แต่การที่เป็นดินแดนที่ประกอบด้วยคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเป็นส่วนใหญ่และการที่พรรคประชาชนสโลวีน (Slovene People’s Party-SLS) พยายามเรียกร้องสิทธิปกครองตนเอง ทำให้สโลวีเนียมีความเป็นอิสระพอควรโดยสภาที่กรุงเบลเกรด (Belgrade) ยอมผ่อนปรนบ้างสโลวีเนียจึงมีโอกาสพัฒนาทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจซึ่งได้เน้นอุตสาหกรรมมากขึ้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สโลวีเนียกลายเป็นส่วนที่มั่งคั่งที่สุดของยูโกสลาเวียเพราะอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุและการพัฒนาอุตสาหกรรม

 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราชอาณาจักรยูโกสลาเวียสลายตัว ดินแดนสโลวีเนียถูกแบ่งแยกโดยเยอรมนี อิตาลี และฮังการี โดยเยอรมนีครอบครองดินแดนสติเรียตอนล่างและคารินเทีย อิตาลีผนวกอิสเทรียและดินแดนรอบกรุงลูบลิยานา (ต่อมา ภายหลังมีการพิพาทกับอิตาลีเรื่องสิทธิเหนืออิสเทรีย ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ อิตาลีจึงได้เมืองทริเอสเต ส่วนยูโกสลาเวียได้ดินแดนที่เหลือ) ส่วนฮังการีได้ที่ราบตามทิวเขามูรา (Mura) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสโลวีเนียใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ได้มีการจัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติสโลวีเนีย (Liberation Front of the Slovene Nation) ขึ้นที่กรุงลูบลิยานาซึ่งร่วมมือกับกองทัพคอมมิวนิสต์ของยอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย เพื่อต่อต้านการยึดครองของกลุ่มประเทศอักษะโดยการต่อสู้จากฐานที่ตั้งในเขตภูเขาในไม่ช้าพรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทนำในแนวร่วมต่อต้านนี้จึงชี้นำการต่อสู้ไปในแนวทางการปฏิวัติสังคมนิยม

 ในช่วงท้ายของสงคราม กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ปลดปล่อยสโลวีเนียทั้งหมด สภาผู้แทนแห่งชาติสโลวีเนียที่คอตเชฟเย (Kočevje) ลงมติในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ รวมสโลวีเนียเข้ากับยูโกสลาเวียใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นตามที่จัดตั้ง โดยที่ประชุมของสภาต่อต้านฟาสซิสต์เพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติยูโกสลาเวีย (Anti-Fascist Council for the National Liberation of Yugoslavia) ที่เมืองยาอิดเซ (Jajce) ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ และ ๒ ปี ต่อมามีการประกาศสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนแห่งยูโกสลาเวีย (Federal People’s Republic of Yugoslavia-FPRY) ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งประกอบด้วย ๖ สาธารณรัฐ ได้แก่ เซอร์เบีย โครเอเชีย มอนเตเนโกร มาซิโดเนีย สโลวีเนีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา สโลวีเนียได้ชื่อใหม่เป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนแห่งสโลวีเนีย (People’s Republic of Slovenia) ภายใน ค.ศ. ๑๙๔๗ กิจการของเอกชนทั้งหลายก็ถูกโอนเป็นของรัฐ แต่สโลวีเนียก็มีความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมพอควร แม้ในทางการเมืองจะอยู่ใต้การชี้นำของสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย (League of Communists of Yugoslavia) ซึ่งมีศูนย์กลางที่กรุงเบลเกรด

 หลังจากยูโกสลาเวียดำเนินนโยบายเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๔๘ และหันไปใช้แนวทางสังคมนิยมตามแนวทางลัทธิตีโต (Titoism) แต่ยังอยู่บนหลักการของการเป็นเจ้าของร่วมกันและการบริหารจัดการด้วยตนเอง ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนแห่งยูโกสลาเวียก็เปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia-SFRY) และสโลวีเนียเองก็เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวีเนีย (Socialist Republic of Slovenia) เศรษฐกิจของสโลวีเนียพัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐ โดยมุ่งสู่อุตสาหกรรมเป็นสำคัญหลังจากยูโกสลาเวียปฏิรูปเศรษฐกิจและใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบกระจายอำนาจในช่วง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๖๖ สโลวีเนีย ก็กลายเป็นสาธารณรัฐที่มุ่งสู่เศรษฐกิจการตลาดได้เร็วที่สุดในหมู่สาธารณรัฐที่อยู่ร่วมกัน ทั้ง ๆ ที่มีการออกกฎหมายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มงวดซึ่งเซอร์เบียที่เป็นสาธารณรัฐใหญ่ที่สุดเป็นผู้กำหนด สโลวีเนียก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ในระดับสูง มีแรงงานที่มีทักษะสูงกว่าที่อื่นโดยเฉลี่ยและมีวินัยในการทำงานขององค์กรที่ดี

 เมื่อตีโต ประธานาธิบดียูโกสลาเวียถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๙๘๐ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในหมู่สาธารณรัฐทั้ง ๖ แห่งเพิ่มความตึงเครียดขึ้น สโลวีเนียเคลื่อนไหวเรียกร้องการแยกตัวเป็นเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๘๗ โดยกลุ่มปัญญาชนที่จัดพิมพ์ Nova revija ครั้งที่ ๕๗ มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและโจมตียูโกสลาเวียที่ใช้นโยบายรวมอำนาจ จนเกิดการจับกุมนักหนังสือพิมพ์ ๓ คน ของหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ Mladina วันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๙ สภาสโลวีเนียเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิงโดยยืนยันอธิปไตยของสโลวีเนียและสิทธิในการแยกตัวออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐ การประกาศดังกล่าวถูกเตือนว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญของสหพันธ์ สลอบอดาน มีโลเซวิช (Slobodan Milosevic)* ผู้นำเซอร์เบียพยายามจะจัดการเคลื่อนไหวต่อต้านผู้นำสโลวีเนียและสั่งให้วิสาหกิจของเซอร์เบียตัดขาดกับสโลวีเนียที่ตอบโต้ด้วยการปิดพรมแดนกับเซอร์เปีย และใช้นโยบายควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสโลวีเนียกับสาธารณรัฐอื่น ๆ ก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

 ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ผู้แทนสโลวีเนียถอนตัวจากการประชุมใหญ่ (วิสามัญ) ครั้งที่ ๑๔ ของสันนิบาต คอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย [14ᵗʰ (Extraordinary) Congress of the League Communists of Yugoslavia-LCY] ซึ่งปรากฏว่าสมาชิกของสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งโครเอเชียและมาซิโดเนียสนับสนุน สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งสโลวีเนียซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายเพียงพรรคเดียวในสโลวีเนียก็ตัดสัมพันธ์กับแอลซีวายและเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคปฏิรูปประชาธิปไตย (Party of Democratic Reform-PDR)

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๘-๑๙๘๙ มีการจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายด้านในสโลวีเนียซึ่งได้ร่วมกันเรียกร้องเอกราชของประเทศโดยออกแถลงการณ์เดือนพฤษภาคมใน ค.ศ. ๑๙๘๙ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการที่ชาวสโลวีนเริ่มรู้สึกหวั่นวิตกที่สลอบอดานมีโลเซวิช ผู้นำของสาธารณรัฐเซอร์เบียพยายามแสดงตนเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย เมื่อยูโกสลาเวียยุติการปกครองตนเองของคอซอวอ (Kosovo)* ซึ่งเป็นมณฑลปกครองตนเองในสหพันธ์อย่างกะทันหัน สโลวีเนียและโครเอเชียก็เกรงว่าไม่ช้าอาจถูกบีบคั้นทางการเมืองเช่นกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ถูกต่อต้านจากประชาชนของประเทศในยุโรปตะวันออก การเรียกร้องเอกราชของสโลวีเนียจืงมีประชาชนจำนวนมากสนับสนุน ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ มีการเลือกตั้งประชาธิปไตยครั้งแรกของสโลวีเนียและนับเป็นสาธารณรัฐแรกของยูโกสลาเวียที่จัดการเลือกตั้ง เสรีและปฏิเสธระบอบสังคมนิยมที่ใช้มา ๔๕ ปี พรรคฝ่ายค้าน ๖ พรรคที่รวมกันเป็นพรรคฝ่ายค้านเพื่อประชาธิปไตยแห่งสโลวีเนีย (Democratic Opposition of Slovenia-DEMOS) มีชัยชนะและได้จัดตั้งรัฐบาลในวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ สภานิติบัญญัติสโลวีเนียประกาศอธิปไตยของสาธารณรัฐและระบุว่ากฎหมายของสาธารณรัฐจะต้องมาก่อนกฎหมายของสหพันธรัฐ จึงเท่ากับเป็นการทำทายสหพันธ์ที่นำโดย เซอร์เบีย ข้อเสนอของสโลวีเนียและโครเอเชียที่จะปฏิรูปสหพันธ์ถูกปฏิเสธ และเซอร์เบียก็ลงโทษทางเศรษฐกิจรัฐที่จะแยกตัวในด้านสินค้าขาเข้าในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ มีการลงประชามติในสโลวีเนีย ร้อยละ ๘๙ ของผู้มาใช้สิทธิเห็นชอบให้สโลวีเนียแยกเป็นเอกราช

 ความสัมพันธ์ระหว่างสโลวีเนียกับสหพันธ์ยูโกสลาเวียเสื่อมลงเรื่อย ๆ ในเดือนมกราคมปีต่อมา ทางการสโลวีเนียปฏิเสธคำสั่งของประธานาธิบดีสหพันธ์ที่ให้ปลดอาวุธกองกำลังทั้งหมด และในเดือนเดียวกันสโลวีเนียและโครเอเชียลงนามในความตกลงมิตรภาพและความร่วมมือทางทหารในที่สุด สโลวีเนียประกาศว่าจะแยกตัวออกจากสหพันธ์ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน และออกกฎหมายที่จะนำไปสู่การประกาศเอกราชและการจัดตั้งกองทัพสโลวีเนีย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทั้งสโลวีเนียและโครเอเชียยังพร้อมที่จะพิจารณาการเป็นรัฐอธิปไตยในกรอบของสหพันธรัฐ สโลวีเนียและโครเอเชียประกาศเอกราชในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ (ซึ่งได้กลายเป็นวันชาติของสโลวีเนีย) การเรียกระดมพลของสหพันธ์สาธารณรัฐซึ่งนำโดยเซอร์เบียจึงเริ่มขึ้นใน ๒ วันต่อมา รถถังถูกส่งออกจากกรุงเบลเกรด กรุงลูบลิยานาถูกทิ้งระเบิด การสู้รบซึ่งดำเนินไป ๑๐ วันโดยกองทัพสโลวีเนียต่อสู้กับกองทัพของสหพันธ์อย่างเข้มแข็งก็ยุติลงเนื่องจากประชาคมยุโรป (European Community-EC)* เข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยรัฐบาลยูโกสลาเวียมีท่าทีอ่อนลงเพราะสโลวีเนียไม่ได้เรียกร้องดินแดนหรือมีบีญหาชนกลุ่มน้อยเพราะประชากรกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นชาวสโลวีน นอกจากนี้ ที่ตั้งของสโลวีเนียห่างไกลจากเซอร์เบีย การรบยืดเยื้อจะกระทบต่อกำลังพลของเซอร์เบียมากและยิ่งต้องปราบปรามโครเอเชียด้วยในขณะเดียวกัน ในบรรดาอดีตสาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย สโลวีเนียจึงเป็นประเทศที่ได้เอกราชโดยเสียหายน้อยที่สุดโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบอสเนีย-เฮอร์เซโกจีนา ในปีต่อมา วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ เซอร์เบียหรือยูโกสลาเวียได้รับรองเอกราชของสโลวีเนีย กองทัพสหพันธ์ถอนกำลังออกจากดินแดนสโลวีเนียจนหมดสิ้นภายในเดือนตุลาคม ขณะที่สโลวีเนียก็เรียกพลเมืองของตนกลับจากการประจำตามหน่วยงานต่าง ๆ ของสหพันธ์เช่นกัน

 ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ มีการผ่านกฎหมายเลิกการโอนกิจการของเอกชนเป็นของรัฐและในวันที่ ๒๓ ธันวาคม มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศซึ่งระบุว่าสโลวีเนียเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยปกครองโดยหลักแห่งกฎหมาย มีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ๒ สภา สภาแรกมีผู้แทน ๙๐ คนซึ่ง ๔๐ คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อีก ๕๐ คนมาจากพรรคตามสัดส่วนที่ได้รับเลือกตั้ง (ต้องได้คะแนนร้อยละ ๓ เป็นอย่างตํ่า) อีกสภาหนึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เป็นตัวแทนสาขาอาชีพ กลุ่มผลประโยชน์ และองค์การต่าง ๆ รวม ๔๐ คน ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันสูงสุดซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ ๕ ปี ปัจจุบันคือ ยาเนซ ดรนอฟเชค (Janez Drnovšek) จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party-LDP) ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๒ ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซึ่งจะจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศให้สภาผู้แทนแต่งตั้งโดยมีวาระ ๔ ปี ประชาคมยุโรปประกาศรับรองสโลวีเนียในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๒ สหรัฐอเมริกาประกาศเช่นกันในเดือนเมษายน และในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม สหประชาชาติ (United Nations)* ก็รับสโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิก

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๓ สโลวีเนียเป็นอดีตสาธารณรัฐในยูโกสลาเวียชาติแรกที่ลงนามในความตกลงร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจกับประชาคมยุโรป ทำให้มีฐานะเป็นประเทศสมาชิกสมทบ ๓ ปีต่อมา และหลังจากที่สโลวีเนียแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินในสโลวีเนียได้ สโลวีเนียก็สามารถเริ่มการเจรจาขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป [(European Union-EU)* หรือประชาคมยุโรปเดิม] ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ในที่สุดสโลวีเนียก็ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ ในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ พร้อมกับอีก ๙ ประเทศ โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ ๒๙ มีนาคม ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)*

 แม้สโลวีเนียและโครเอเชียเป็นอดีตสาธารณรัฐยูโกสลาเวียที่ร่วมมือกันนำร่องการแยกตัวเป็นอิสระจากสหพันธ์สาธารณรัฐ (ในที่สุดสาธารณรัฐต่าง ๆ ทยอยแยกตัวออกจากสหพันธ์จนหมดสิ้น โดยมีเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเป็นสาธารณรัฐคู่สุดท้าย) แต่ปัจจุบันทั้ง ๒ ประเทศยังคงมีปัญหาพิพาทกันเกี่ยวกับพรมแดนทั้งบนบกและในทะเลเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับอ่าวปิรัน (Piran) ในอิสเทรียซึ่งกระทบความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและไม่นานหลังจากเป็นเอกราช สโลวีเนียไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่คริชโก (Krško) ซึ่งเดิมสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียจะเป็นผู้สร้างเพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ ๒ ประเทศ โครเอเชียประท้วงการตัดสินใจของสโลวีเนียทันทีเพราะจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานที่จะผลิตได้ จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๑ จึงมีความตกลงกันหลังจากที่โครเอเชียมีรัฐบาลใหม่ ความตกลงนี้ทำให้สโลวีเนียมีทางออกสู่ทะเลเอเดรียติกโดยผ่านอ่าวปิรัน ส่วนเรื่องโรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ครีชโกก็ให้มีการจัดการร่วมกันและหมู่บ้าน๔ แห่งบริเวณพรมแดนสโลวีเนียยินยอมให้อยู่กับโครเอเชีย แต่ ๒ ปีต่อมา ๒ ประเทศมีเรื่องขุ่นเคืองใจต่อกันอีกเมื่อโครเอเชียประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในเขตทะเลเอเดรียติกซึ่งจะทำให้สโลวีเนียไม่มีทางออกสู่น่านนํ้าสากลโดยตรง สโลวีเนียจึงเรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับช่วงสั้น ๆ และประกาศว่าจะขัดขวางการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของโครเอเชีย

 ปัจจุบันทั้ง ๒ ประเทศได้จัดทำความตกลงเกี่ยวกับพรมแดนทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งจะทำให้อ่าวปิรันแทบทั้งหมดเป็นของสโลวีเนียและหมู่บ้านหลายแห่งเป็นของโครเอเชีย แต่ความตกลงดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงกัน จึงยังไม่ได้รับการให้สัตยาบันในเรื่องเกี่ยวกับเขตแดนนี้ นอกจากสโลวีเนียต้องเกี่ยวพันกับโครเอเชียแล้ว ในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรปสโลวีเนียต้องรักษากฎของเชงเกน (Schengen) อย่างเข้มงวดเพื่อลดการลอบเข้าเมืองและการค้าผิดกฎหมายที่ผ่านเข้ายุโรปทางตะวันออกเฉียงใต้ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการข้ามพรมแดนระหว่างสโลวีเนียกับโครเอเชียด้วย

 สโลวีเนียซึ่งเป็นประเทศที่ใกล้ชิดกับยุโรปตะวันตกมากกว่ายุโรปตะวันออกเป็นตัวอย่างของประเทศเล็กที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ สโลวีเนียเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่เคยกู้ยืมเป็นประเทศผู้บริจาคของธนาคารโลก อัตราเงินเฟ้อของสโลวีเนียก็อยู่ในเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปจะรับได้ตามเกณฑ์ที่ตกลงที่เมืองมาสตริกต์ (Maastricht) จึงมีกำหนดว่าจะเปลี่ยนจากการใช้สกุลเงินโตลาร์ (tolar) เป็นยูโร (Euro) ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นอดีตสาธารณรัฐของยูโกสลาเวียที่ประสบความสำเร็จ แต่การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในความดูแลของรัฐ แม้ธนาคาร กิจการโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคจะมีเอกชนดำเนินการตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๐ และการลงทุนของต่างประเทศก็ยังไม่มากนัก รัฐบาลกลางขวาที่นำโดยนายกรัฐมนตรียาเนซ ยันซา (Janez Jansa) ซึ่งรับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๔ จึงประกาศว่าจะเร่งการโอนกิจการใหญ่ ๆ ของรัฐให้แก่เอกชนและจะสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ในปลาย ค.ศ. ๒๐๐๕ คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจที่รัฐบาลแต่งตั้งก็ได้รับการยกฐานะเสมอรัฐมนตรีซึ่งมีแผนงานลดภาษี โอนกิจการของรัฐให้เอกชนปรับปรุงตลาดแรงงานให้ยืดหยุ่น และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสโลวีเนียมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจังแม้ว่าได้รับการจัดว่าเป็นประเทศแถวหน้าทางเศรษฐกิจของสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม สโลวีเนียได้ชื่อว่าเป็นอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกประเทศแรกที่ได้เข้าร่วมในยูโรโซนใน ค.ศ. ๒๐๐๗ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดในแถบคาบสมุทรบอลข่าน ในกลาง ค.ศ. ๒๐๑๐ ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development).



คำตั้ง
Slovenia, Republic of
คำเทียบ
สาธารณรัฐสโลวีเนีย
คำสำคัญ
- กฎของเชงเกน
- การปฏิรูปศาสนา
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- โครเอเชีย
- ดัลมาติน, จูรี
- ตีโต
- แถลงการณ์เดือนพฤษภาคม
- ทรูบาร์, พริมอช
- ธนาคารโลก
- นโยบายจักรวรรดินิยม
- นิกายลูเทอรัน
- แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติสโลวีเนีย
- บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา
- พรรคประชาชน
- พรรคประชาชนสโลวีน
- พรรคฝ่ายค้านเพื่อประชาธิปไตยแห่งสโลวีเนีย
- พรรคเสรีประชาธิปไตย
- เพรเชเรน, ฟรานซ์
- มีโลเซวิช, สลอบอดาน
- ยันซา, ยาเนซ
- ยูโกสลาเวีย
- ระบอบฟิวดัล
- ระบอบราชาธิปไตยคู่
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติ
- ลัทธิตีโต
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
- สภาต่อต้านฟาสซิสต์เพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติยูโกสลาเวีย
- สภาผู้แทนแห่งชาติสโลวีเนีย
- สหประชาชาติ
- สหภาพยุโรป
- สิทธิปกครองตนเอง
- ออสเตรีย-ฮังการี
- เอกสารเฟรซิง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-